ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า), ศาลเจ้าพ่อเสือ พระนคร หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ (อักษรจีนตัวเต็ม: 打惱路玄天上帝廟, ตัวย่อ: 打恼路玄天上帝庙, พินอิน: Dǎ nǎo lù xuán tiān shàngdì miào ตานาวลู่เฉียงเทียนซ่างตี่เมี่ยว, ฮกเกี้ยน: ต้านาวหล่อเอี่ยนเถี้ยนซ่งเต้เบี้ยว) เป็นศาลเจ้าจีนเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ชาวจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” (เทพเจ้าใหญ่) โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม
ว่ากันว่าศาลเจ้าพ่อเสือตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง ได้โปรดให้ย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่งถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน

ศาลเจ้าพ่อเสือตั้งอยู่เลขที่ 468 ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน ทั้งนี้เจ้าพ่อเสือก็เป็นเทพที่ประชาชนทั้งชาวจีนและชาวไทยให้ความเคารพกราบไหว้มาก โดยเฉพาะคนที่มีลูกน้องบริวารมาก ๆ ต้องการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง โชคลาภ และที่กำลังมีคดีความต้องขึ้นศาล ซึ่งของที่ประชาชนนิยมนำมาถวายเจ้าพ่อเสือคือหมูสามชั้นและไข่”
สำหรับประวัติของศาลเจ้าพ่อเสือตามตำนานจีนก็คือ Hu Ye (虎爺 “Lord Tiger”) เป็นเทพเจ้าเสือแห่งการปกป้อง มักพบเห็นในวัดของลัทธิเต๋าของจีน คนจีนบูชาเทพเจ้าเสือเพื่อสาปแช่งหรือไล่เสนียดวิญญาณที่เป็นศัตรูต่างๆ <4> คนจีนนำรูปปั้นเจ้าพ่อเสือมาตั้งในประเทศไทยเป็นจำนวนมากหลายแห่ง เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีศาลเจ้าพ่อเสือของจีนอยู่หลายแห่งเช่นกัน

ตำนานของจีนมาผสมผสานกับตำนานของไทยที่นายสอนเข้าป่าไปเก็บของป่ากลับมาให้มารดาแล้วพบกับซากกวางเพิ่งตายใหม่ๆ เขาอยากให้มารดาได้รับประทานเนื้อกวางนี้ จึงได้เข้าไปตัดเนื้อกวางมาได้ก้อนหนึ่ง เสือที่ซุ่มอยู่ ได้กระโจนเข้าขย้ำแขนของนายสอนไปข้างหนึ่ง นายสอนตะเกียกตะกายถึงบ้านเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟังจากนั้นจึงสิ้นใจ ต่อมาจับเสือตัวนั้นได้ จึงนำตัวมันมาประหารชีวิต เสือไม่ขัดขืน ได้แต่น้ำตาไหลริน จนยายผ่องสงสารจึงขอให้ยกเลิกการประหาร และเลี้ยงดูเสือตัวนี้แทนลูก เมื่อยายผ่องเสียชีวิต เสือก็ตรอมใจกระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยสำนึกใจคุณของยายผ่อง ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาล ข้างวัดมหรรณพาราม โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกของมันมาไว้ใต้แท่น